สาวกะเหรี่ยงเคียงถิ่นตะนาวศรี ลำภาชีแก่งส้มแมวแนวหินผา
ธารน้ำร้อนบ่อคลึงตรึงติดตา น้ำผึ้งป่าหวานซึ้งติดตรึงใจ
อำเภอสวนผึ้ง เดิมเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอจอมบึง เรียกว่า “ตำบลสวนผึ้ง” จังหวัดราชบุรี ได้อนุมัติให้ตั้งกิ่งอำเภอสวนผึ้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2517 เปิดทำการบริการประชาชน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2517 เป็นตำบลที่มีพื้นที่ กว้างขวาง ทุรกันดาร เต็มไปด้วยภูเขา ป่าไม้ การคมนาคมไม่สะดวก ประชาชน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง การปกครองดูแลเป็นไปด้วยความยาก ลำบาก รัฐบาลจึงได้จัดส่งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ที่ 70 กรป.กลาง บก.ทหาร สูงสุด ประกอบด้วยทหาร 3 เหล่าทัพ และข้าราชการ พลเรือน ซึ่งเป็นผู้แทนของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ พร้อมที่จะดำเนินการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ การคมนาคม และการเมือง ตั้งแต่เมื่อวัน ที่ 20 มีนาคม 2511 – 2514 ต่อมากระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศแบ่งพื้นที่อำเภอจอมบึง โดยตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า กิ่งอำเภอสวนผึ้ง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2517 และต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอสวนผึ้ง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2526
ที่มาของคำว่า “สวนผึ้ง” เนื่องจากพื้นที่โดยทั่วไปของอำเภอสวนผึ้งนั้นขนาบด้วยเทือกเขาตะนาวศรีเป็นพรมแดนตะวันตกมีทั้ง ป่าเขา น้ำตก ธารน้ำภาชี แม้น้ำจะตื้นแต่ก็มีน้ำไหลเชี่ยว เป็นลำธารที่ยาวไกล หล่อเลี้ยงชีวิตคน ต้นไม้ และสัตว์ในที่แห่งนี้ ในแนวป่าลึกเขตชายแดนระหว่างไทยกับพม่านั้น มีต้นไม้ใหญ่โตมากขนาดสี่คนโอบ ต้นไม้นี้บรรดาหมู่ผึ้ง และมิ้มมาทำรวงรังขนาดใหญ่มาก รังหนึ่งๆ กว้างเป็นเมตร ต้นหนึ่งๆ มีถึงกว่า 200 รัง ชาวกะเหรี่ยงจะอาศัยการดีรังผึ้งซึ่งถือเป็นน้ำหวานของป่าที่ หวานหอม บริสุทธิ์จากดอกไม้ป่ามายังชีพ ต้นไม้แห่งรังผึ้งนี้ชาวบ้านกะเหรี่ยง เรียกว่า “ไหมซ่าเลียง” ชาวบ้านไทยเรียกว่า “ต้นชวนผึ้ง” หรือ “ยวนผึ้ง” ที่เป็นที่มาของชื่ออำเภอสวนผึ้ง
ในปัจจุบันยังมีน้ำผึ้งหวานหอมบริสุทธิ์แท้จากป่าวางขายกันอยู่ แม้จะน้อยลงไปอย่างมากแล้วก็ตามและมาจากแนวป่าเขตพม่าเสียส่วนใหญ่
สวนผึ้งมีลักษณะภูมิประเทศ เต็มไปด้วยป่าเขาเนินดิน พื้นดินเป็นที่ชันเสียส่วนใหญ่ จึงไม่ค่อยมีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่ามากนัก นอกจากมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์แล้วยังพบแร่ดีบุกตามสันเขาอีกหลายแห่ง จึงมีการขุดร่อนแร่ขึ้นตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งในปัจจุบันไม่มีการค้นพบอีก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มเปิดการค้าเสรี มีการสัมปทานทำเหมืองแร่อย่างเป็นล่ำเป็นสัน อำเภอสวนผึ้งเมื่อก่อนเป็นเมืองกันดาน ขาดการติดต่อสัญจร เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการให้สัมปทานบัตรขุดแร่ดีบุก เหมืองก็ถูกพัฒนามี การตัดถนนเข้าเหมืองระยะทางหลายสิบกิโลเมตร เพื่อลำเลียงเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องกลหนักมาใช้ทำเหมือง ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเป็นประชากรของเหมืองแต่ละแห่งมากมายนับร้อยๆ คนทำให้เกิดชุมชน เกิดตลาด มีไฟฟ้าน้ำบาดาลให้ใช้ มีวัด โรงเรียน สถานีอนามัย ร้านค้า มีแม้กระทั่งบาร์และบ่อน ในยามนั้นสวนผึ้งจึงคึกคัก และเริ่มมีการคมนาคมติดต่อกับผู้คนภายนอก ต่อมาแร่ดีบุกหมด เหมืองเสื่อม ผู้คนอพยพไปอยู่ที่อื่น สวนผึ้งก็เงียบเหงาลง แต่ยังคงมีการค้าขายที่ขายแดนจนกระทั่งด่านปิดตัวลง การค้าขายจึงซบเซาลงอย่างมาก